องค์การบริหารส่วนตำบลชำผักแพว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี :www.chumpakpaew.go.th

 
 
ข่าวประชาสัมพันธ์


โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ภัยเงียบจากยุงลาย

    รายละเอียดข่าว

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา หรือ โรคไข้ซิกา คืออะไร ?
โรคติดเชื้อไวรัสซิกา หรือ โรคไข้ซิกา คือโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัสซิกา อยู่ในตระกูลเฟลวิไวรัส (Flavivirus) มีลักษณะคล้ายคลึงกับไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โรคนี้ส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการโรคไม่รุนแรง มีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ การติดเชื้อในสตรีมีครรภ์อาจทำให้เกิดภาวะศีรษะเล็กในเด็กแรกเกิด (Microcephaly) หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนและยังไม่มียารักษาเฉพาะ จึงต้องรักษาตามอาการ
อาการของโรคคือ
- มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส
- ตาแดง เยื่อบุตาแดงอักเสบ
- อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตามแขนขา และลำตัว หรือปวดข้อ
- มีผื่นแดงขึ้นตามลำตัว ผื่นมีลักษณะเป็นปื้นหนา ๆ

หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาการเหล่านี้จะทุเลาลงภายในเวลา 2 - 7 วัน

 

การรักษา
ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง สามารถรักษาได้โดย
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- หากมีไข้แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพราะมียาบางชนิดที่เป็นอันตรายสำหรับการเป็นโรคนี้ อาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น

**หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์**

สำหรับประเทศที่มีการระบาดของไวรัสซิกาตามรายงานขององค์การอนามัยโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2559) มีทั้งหมด 23 ประเทศ ได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย โดมินิกัน นิการากัว เอลซัลวาดอร์ เฟรนช์เกียนา กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส มาร์ตีนิก เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย ซูรินาม เวเนซุเอลา เปอร์โตริโก บาร์เบโดส โบลิเวีย เอกวาดอร์ กัวเดอลุป กายอานา หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา และเกาะเซนต์มาร์ติน เพื่อความปลอดภัย

โดยมีคำแนะนำสำหรับประชาชน
คือการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงและป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยการนอนในมุ้งหรือทายากันยุง ซึ่งเป็นการป้องกันควบคุมโรคเช่นเดียวกับไข้เลือดออก หากประชาชนมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ อาจมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ที่คลอดมามีสมองเล็กหรือมีภาวะแทรกซ้อน

สำหรับผู้เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้ซิกา (ประเทศในแถบลาตินอเมริกาและแคริบเบียน) ขอให้ผู้เดินทางระมัดระวังป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด และใช้ยาทาป้องกันยุงกัด หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ก่อนเดินทางไปประเทศที่มีการระบาดของโรคควรปรึกษาแพทย์ ส่วนผู้เดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในประเทศไทยมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง หรือปวดข้อ สามารถมารับการรักษาและปรึกษาได้ที่คลินิกเวชศาสตร์การท่องเที่ยวและการเดินทาง สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และสามารถรับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง
กรมควบคุมโรค ได้เตรียมจัดทำประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง“โรคไข้ซิกา" เพื่อให้ประชาชนตระหนักในมาตรการป้องกันโรคและช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

โดยเน้นใช้หลัก 3 เก็บ ได้แก่
1. เก็บบ้านให้สะอาดเรียบร้อย ปลอดโปร่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
2. เก็บขยะ เศษภาชนะ รอบ ๆ บ้าน ทั้งใบไม้ กล่องโฟม จานรองกระถางต้นไม้ ต้องเก็บกวาด ฝัง เผา หรือทำลาย
3. ถังเก็บน้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ เพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะในบริเวณครัวเรือน โรงเรียน เขตก่อสร้าง สถานีขนส่ง และหอพักรอบมหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยให้ดำเนินการอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 



    เอกสารประกอบ

โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ภัยเงียบจากยุงลาย
 
    วันที่ลงข่าว
: 20 ธ.ค. 2566
    ผู้ลงข่าว : ผู้ดูแลระบบ